เรื่องที่ต้องรู้! ก่อนเปลี่ยนบ้านเป็น SMART HOME | Sammakorn
ระบบ Smart Home หรือระบบบ้านอัจฉริยะ คือระบบที่นำเอาเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต เน็ตเวิร์ก มาใช้ในการเชื่อมต่อและควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นโคมไฟ ลำโพง เครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์อื่น ๆ ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ สามารถทำความรู้จักกับระบบ Smart Home และข้อดีได้ที่นี่: คลิก
ในบทความนี้ เราจะมาลงลึกถึงการทำงาน อุปกรณ์ และการวางแผนออกแบบระบบ Smart Home เบื้องต้นที่จะทำให้บ้านของคุณสมาร์ทกว่าที่เคย!
ทำความรู้จักกับระบบเครือข่าย
ระบบเครือข่ายคือระบบที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้ในการสื่อสารกัน ระบบเครือข่ายที่นิยมใช้กับอุปกรณ์ Smart Home มี 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ Wi-Fi และ ระบบ Zigbee
ระบบ Wi-Fi คือระบบที่ให้คุณสามารถควบคุมอุปกรณ์ผ่านสัญญาณ Wi-Fi จาก Router Wi-Fi ได้โดยตรงแบบไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง อุปกรณ์ที่ใช้จะมาจากต่างที่มาก็ได้ ใช้ข้ามยี่ห้อได้ โดยระบบนี้จะใช้พลังงานเยอะและช่องสัญญาณอาจเต็มได้เพราะต้องแบ่งสัญญาณไปที่หลายอุปกรณ์ หากอินเตอร์เน็ตไม่แรงพอ ความไวในการส่งข้อมูลของอุปกรณ์ก็จะลดลงและอาจรบกวนการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคุณได้อีกด้วย
ระบบ Zigbee คือระบบที่มี server เป็นของตัวเอง อุปกรณ์ใช้จะต้องมาจากแหล่งเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน ที่ทำมาเพื่อระบบของมันเองเท่านั้น โดยอุปกรณ์จะสื่อสารกันผ่าน Wi-Fi ซึ่งต้องมีตัวกลาง หรือ Gateway ที่ทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกอย่างเข้าด้วยกันก่อน แล้ว Gateway นั้นจึงจะถูกนำไปเชื่อมต่อกับ Router Wi-Fi อีกที โดยระบบนี้จะใช้พลังงานต่ำและไม่กระทบต่อความแรงของอินเตอร์เน็ตมากนัก เพราะตัวอุปกรณ์สามารถส่งต่อสัญญาณให้กันและกันได้เอง
ทั้งนี้ แต่ละระบบก็มีข้อดีและข้อจำกัดที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนที่เหมาะสมกับการใช้งานที่ต้องการมากกว่า
ประเภทของอุปกรณ์ Smart Home
ระบบ Smart Home ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งเป็น 5 ประเภทตามการทำงานได้ดังนี้
อุปกรณ์ควบคุม (Control Devices)
มีหน้าที่ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยตรง ได้แก่
- ปลั๊กไฟอัจฉริยะ (Smart Plug)
- สวิตช์อัจฉริยะ (Smart Switch)
- รีโมทควบคุม (Universal IR Remote Control) ใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีรีโมทระบบเดียวกัน เช่น ทีวีกับเครื่องปรับอากาศที่รีโมทเป็นระบบอินฟาเรดทั้งคู่ จึงสามารถรวมการควบคุมไว้ที่รีโมทอันเดียวกันได้ ซึ่งการใช้งานจะใช้คู่กับสมาร์ทโฟน
- เซ็นเซอร์ และตัวรับรู้ (Sensors and Detectors) เป็นตัวเริ่มคำสั่งของอุปกรณ์บางชนิด มีหลายรูปแบบตามลักษณะการใช้งาน เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวที่สั่งให้อุปกรณ์ทำงานเมื่อเราเดินผ่านหรือหยุดทำงานเมื่อไม่พบความเคลื่อนไหวในห้องเป็นเวลาหนึ่ง เซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิความร้อนร่างกาย เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น เป็นต้น
อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย (Security Devices)
เช่น กล้องวงจรปิด ประตูดิจิทัล (Digital Door Lock)
อุปกรณ์ควบคุมสภาพแวดล้อม (Environmental Control Devices)
เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ
อุปกรณ์อำนวยความสะดวก (Convenience Devices)
คืออุปกรณ์ที่เพิ่มเติมจากประเภทอื่น ๆ ข้างต้น จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะช่วยให้การใช้งานระบบ Smart Home ของคุณเป็นไปอย่างลื่นไหลมากขึ้น เช่น อุปกรณ์เพื่อการควบคุมด้วยเสียงที่รองรับระบบ Google Home, Amazon Alexa หรือ Apple HomeKit
อุปกรณ์เชื่อมต่อ (Connectivity Devices)
คืออุปกรณ์ที่ช่วยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในระบบ Smart Home ของเราสื่อสารกันได้ จะใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบใดนั้นต้องคำนึงถึงระบบเครือข่ายที่เลือก เช่น Wi-Fi หรือ Zigbee ที่ได้แนะนำไปข้างต้น เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าก็มีมาตรฐานการเชื่อมต่อที่หลากหลาย บางอุปกรณ์ใช้ร่วมกันได้ บางอุปกรณ์ใช้ร่วมกันไม่ได้ ดังนั้นอุปกรณ์เชื่อมต่อที่ใช้ก็จะแตกต่างกันไปด้วย
มาวางแผนสร้าง Smart Home กัน!
1) สำรวจความต้องการของสมาชิกในบ้าน
คนในบ้านอยากได้อะไร อยากทุ่นแรงตรงไหน ฟังก์ชันไหนใช้บ่อย แต่ละบ้านอาจมีสิ่งที่ให้ความสนใจที่ต่างกัน
2) เลือกอุปกรณ์และรูปแบบการเชื่อมต่อ
สำรวจว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าไหนบ้างที่จะรองรับความต้องการได้ตรงใจ อุปกรณ์เหล่านั้นเข้ากันได้หรือไม่ และระบบเครือข่ายไหนที่เหมาะสม ต้องไม่ลืมคำนึงถึงระบบอินเตอร์เน็ตหรือเน็ตเวิร์กของบ้านเราว่ามีความเสถียรหรือไม่ จะสามารถรองรับจำนวนอุปกรณ์ได้เพียงพอไหม
3) ตำแหน่งที่จะติดตั้งอุปกรณ์
จะติดตั้งอุปกรณ์ Smart Home ที่ตำแหน่งไหนบ้าง ตำแหน่งนั้นมีจุดต่อสายไฟรองรับไหม หากไม่มีจะเดินไฟมาอย่างไรได้บ้าง
การจะให้บ้าน Smart Home ออกมาเนี้ยบและเรียบร้อยที่สุด จำเป็นจะต้องคิดและวางแผนให้ดีตั้งแต่ก่อนเริ่มสร้างบ้าน เพราะเรื่องของงานโครงสร้างและการวางระบบนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องคำนึงถึงตำแหน่งของเครื่องใช้ไฟฟ้า ตำแหน่งปลั๊ก สวิตช์ หรือเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมเพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม การจะต่อเติมบ้านเดิมของเราให้สมาร์ทขึ้นก็ไม่ได้ใช่เรื่องที่ยากเกินไป เพียงแต่มีสิ่งที่ต้องคำนึงเพิ่มเติม เช่น การต้องเจาะ ต้องรื้อสายไฟเดิมเพื่อวางระบบไฟใหม่ อาจต้องมีการเดินท่อไฟเพิ่ม อาจมีส่วนที่กระทบต่อหน้าตาเดิมของบ้านบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือนักออกแบบให้ช่วยดูแลในส่วนนี้เพื่อให้ Smart Home ของคุณออกมาอย่างสำเร็จสมบูรณ์อย่างที่ฝันไว้
__________
สัมมากร
บ้านที่หลับสบาย
Have a good sleep
รับข้อมูลเพิ่มเติม: www.sammakorn.co.th
แอดไลน์สัมมากร: https://bit.ly/3NB2Irs
#อยากให้รู้ว่าสัมมากรขายบ้าน
#SAMMAKORN #บ้าน #สัมมากร #บ้านที่หลับสบาย #Smarthome #Technology