EV Charger แบบไหนที่ช่วยประหยัดได้จริง | Sammakorn
ค้นหาโครงการที่เหมาะกับคุณ
ทำเลที่ตั้ง
เลือกทำเลที่ตั้ง
เลือกแล้ว0
ค้นหาจากทำเลที่ตั้ง
ประเภทโครงการ
เลือกประเภทโครงการ
เลือกแล้ว0
เลือกประเภทโครงการ
ช่วงราคา
เลือกช่วงราคา
เลือกแล้ว0
เลือกช่วงราคา

EV Charger แบบไหนที่ช่วยประหยัดได้จริง | Sammakorn

Thematic
EV Charger แบบไหนที่ช่วยประหยัดได้จริง
14 กรกฎาคม 2565
sammakorn | EV Charger แบบไหนที่ช่วยประหยัดได้จริง

EV is the positive trend

นับวันนวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับยานยนต์ก็ล้ำขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกค่ายเร่งพัฒนาออกแบบฟังก์ชั่นให้ตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานของผู้ขับขี่ ไหนจะการแข่งขันที่ดุเดือดของรถแต่ละแบรนด์ ทั้งเรื่องสไตล์ดีไซน์ของรถ ความเร็ว ความแรง ราคา ประหยัดพลังงาน และที่สำคัญอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรพลังงานให้มีความยั่งยืนที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนดึงดูดเขย่าใจเราๆ ให้หามองหารถรุ่นที่ถูกใจมาครอบครอง

 

แค่ชื่อก็บอกแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน โครงสร้างรถไม่มีความซับซ้อนเหมือนรถเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม แต่เพื่อความปลอดภัยก่อนจะตัดสินใจถอยรถ EV คันใหม่ มาลองดูข้อมูลกันสักนิด จะได้เข้าใจก่อนซื้อว่าเราต้องเตรียมตัวเตรียมบ้านของเรายังไงให้พร้อมรองรับการชาร์จไฟให้ตอบโจทย์รุ่นรถ เพราะซื้อรถ EV มาอาจไม่ได้จบแค่เสียบไฟเหมือนโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้าก็เสมือนอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่มาก เรื่องการชาร์จและพลังงานกำลังของกระแสไฟจึงสำคัญ เพราะแต่ละรุ่นก็จะมีสเปคที่แตกต่างกันไป รับไฟได้ไม่เท่ากัน ถ้าเผลอเสียบผิด เลือกที่ชาร์จพลาด หรือ กระแสไฟไม่พอ จะไม่พังแค่รถแต่จะเกินอันตรายต่อบ้านเราด้วย

 

เข้าใจกลไกของรถ EV

มาดูโครงสร้างการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้นกันสักนิด จะได้เข้าใจและเลือกอุปกรณ์ต่อพ่วงให้ถูกต้อง อย่างที่บอกไปแล้วว่าตัวเครื่องของรถยนต์ EV ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ไร้การเผาไหม้ ถ้าแบ่งพาร์ทชิ้นส่วนหลักๆ ก็จะมีเพียง 3 ส่วนเท่านั้น คือ 

1. Motor - มอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่ส่งพลังงานไฟฟ้าไปที่ระบบเพลาเพื่อให้รถสามารถขับเคลื่อนได้ 

2. Battery - แบตเตอรี่ทำหน้าที่เป็นขุมเก็บพลังงาน ไฟฟ้าที่ถูกชาร์จเข้ามาจะส่งมาเก็บสะสมไว้ที่แบตเตอรี่เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป เพื่อส่งพลังไฟฟ้าไปยังส่วนต่างๆ ให้รถสามารถทำงานได้ ซึ่งรถจะวิ่งได้ไกล เร็ว แรง แค่ไหน ขนาดของแบตเตอรี่ก็มีผลโดยตรง และรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน เพราะมันทั้งทนทานและเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป

3. On board charger - ส่วนของอุปกรณ์หม้อแปลงกระแสไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในรถ ทำหน้าที่แปลงระหว่างไฟฟ้ากระแสตรง(DC) และ ไฟฟ้ากระแสสลับ(AC) เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าไปเก็บที่แบตเตอรี่ ซึ่งขนาดของ On board charger นี่แหละสำคัญที่จะบอกว่ารถเราต้องชาร์จเข้ากับ EV Charger สเปคไหน รับไฟได้เท่าไหร่ ใช้เวลาชาร์จนานแค่ไหนแบตถึงจะเต็ม เหมือนวาล์วควบคุมการรับกระแสไฟเข้ารถของเรา

 

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างกลไกการทำงานของรถยนต์ถูกควบคุมด้วยไฟฟ้าทั้งคัน ถ้าเป็น Battery Electric Vehicle (BEV) หรือ รถยนต์ไฟฟ้า 100% ก็จะใช้ไฟฟ้าวิ่งในระบบทั้งหมดไร้การใช้น้ำมันในการเผาไหม้ แต่ถ้าเป็นรถ Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) ยังผสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์เผาไหม้ และ เครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรถไฟฟ้า 2 ประเภทนี้ (BEV) และ (PHEV) จำเป็นต้องปลั๊กชาร์จไฟเข้ากับ EV Charger 

ส่วนที่สำคัญไม่แพ้ตัวรถคือเครื่องชาร์จ หรือ EV Charger เรามาดูกันว่าเจ้าเครื่องชาร์จมีกี่ประเภท แล้วแบบไหนที่เหมาะกับการใช้งานของเราที่สุด เพราะถ้าว่ากันตามตรง ราคามันมีตั้งแต่หลักพันยันแสนกว่า เจ้าตัวชาร์จนี่แหละที่สร้างความสงสัยให้กับเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า  บางทีตอนซื้อรถเลยยืนงงๆ ต้องซื้อเพิ่มจริงๆ หรอ เจอพนักงานหว่านล้อมไปก็จำใจจับพลัดจับผลูยอมซื้อตามข้อเสนอของพนักงานขายแบบไม่ได้ตั้งใจ รู้ตัวอีกทีก็ตอนติดตั้งนี่แหละปวดหัวล่ะคราวนี้ อ้าว! มันต่อกับระบบไฟบ้านเราไม่ได้ รถเราไม่รองรับ EV Charger เครื่องนี้นี่ ซื้อตั้งแพงแต่ใช้เวลาชาร์จนานมากไม่เห็นเร็วแบบที่เขาโฆษณาเลย หรือโชคร้ายหน่อยก็อาจเกิดความอันตรายขณะชาร์จใช้งาน ซึ่งไม่มีใครอยากเสียเงินแพงแล้วใช้งานได้ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ความสะดวกอย่างแน่นอน

 

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนติดตั้ง EV Charger จะได้ไม่เสียเงินทิ้ง

1. เช็คดูขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านเราก่อน ว่าขนาดปริมาณกระแสไฟฟ้าเท่าไหร่ แนะนำควรเริ่มที่ไฟบ้าน 1 เฟส 30(100) ถึงจะเหมาะกับการต่อปลั๊กชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเริ่มต้น ป้องกันไฟกระชากหรือแย่งไฟกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นในบ้าน แต่ถ้าคุณซื้อรถEV ขนาดใหญ่ หรือ มีแพลนจะซื้อหลายคัน ก็จำเป็นต้องขอไฟบ้านแบบ 3 เฟสไว้ เพื่อให้กระแสไฟเพียงพอสำหรับชาร์จรถ 

2. ดูขนาดของ On-BoardCharger ในรถของเราว่าจำกัดปริมาณการไหลของกระแสไฟเข้ารถได้ขนาดเท่าไหร่ ทั่วไปก็จะมีขนาดตั้งแต่ 3.6 kW ถึง 22 kW เพื่อที่จะเลือกสเปคของ EV Charger ให้เหมาะสม

3. ค่าเครื่อง EVcharger แบบที่ใช้ในบ้าน ดูค่าปล่อยกระแสไฟของเครื่องชาร์จให้แมทช์กับความสามารถในการดึงพลังงานไฟฟ้าของตัวรถ หรือ ขนาดของ On-Board Charger ของรถนั่นเอง ซึ่งทั้งสองค่านี้ควรสัมพันธ์กัน เพราะถ้าคุณเผลอซื้อเครื่องชาร์จขนาด 22 kW แต่ On-Board Charger ดึงไฟได้แค่ 6.8 kW ก็เท่ากับคุณเสียเงินทิ้ง เพราะฉะนั้น มองหา เครื่องชาร์จไซส์ 7.4 kW ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องเปลืองเงินจ่ายแพงเกินกำลังชาร์จของรถเรา ซึ่งเครื่อง EV Charger ส่วนใหญ่ออกแบบมา 4 ขนาดคือ 3.7 kW, 7.4 kW, 11kW และ 22 kW แต่ถ้ารถหรูของคุณรองรับการชาร์จไฟฟ้า AC Onboard Charger สูงสุด 22 kW ก็จัดเครื่องชาร์จขนาด 22 kW ได้สบายใช้งานได้เต็มกำลัง หรือถ้ามีรถไฟฟ้าหลายคันก็ดูขนาด On-Board Charger ที่สูงที่สุด เครื่องชาร์จจะได้สามารถใช้งานครอบคุลุมได้ทุกคันในบ้านเรา

4. บริเวณพื้นที่จอดรถ สิ่งที่ลืมไม่ได้และสำคัญมากที่หลายคนมองข้าม อย่าลืมวัดจุดจอดรถถึงจุดตั้งเครื่อง EV Charger เพราะเราต้องคำนวณความยาวของสายไฟให้พอดี ไม่ให้สายชาร์จตึงเกินไปขณะชาร์จเพื่อความปลอดภัย เครื่องชาร์จแต่ละรุ่นจะทำความยาวออกมาค่อนข้างมาตรฐาน อาจจะมีตั้งแต่ 3 เมตร - 7 เมตร ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ เพราะฉะนั้นคุณต้องดูดีๆ ว่าคุณจอดรถในบ้านกี่คัน รถไฟฟ้าของคุณจะจอดตำแหน่งไหน แล้วจะตั้งเครื่องได้ที่ตำแหน่งใด เพราะถ้าเราเผื่อระยะต่อจากปลั๊กถึงรถไม่ดี จะมาทุบที่จอดรถคงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง 

5. งบประมาณของเครื่องชาร์จ มีราคาตั้งแต่พันปลายๆ ยันหลักแสน ซึ่งถ้าคุณตั้งงบไว้ รู้ข้อมูลข้างบนทั้งหมด คราวนี้เรื่องของราคาก็จะเป็นตัวชี้วัด ว่าคุณจะลงทุนกับเครื่องคุณภาพขนาดไหน กำลังปล่อยกระแสไฟฟ้าเท่าไหร่เพราะยิ่งปล่อยกระแสไฟฟ้าได้มากราคาก็สูงขึ้นตามขนาด แบรนด์พรีเมียมระดับใด หรือจะเลือกฟังก์ชั่นพิเศษในการใช้งานที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายในการชาร์จได้มากขึ้น และถ้าคุณมีงบคุณก็จะสามารถเลือกความสวยงามของเครื่องได้หลากหลายให้เหมาะกับดีไซน์บ้านคุณได้ด้วย 

ประเภทของ EV Charger

ตามวงการยานยนต์สากลเขาจะแบ่งเประเภทเครื่องชาร์จ EV Charger ออกเป็น 4 mode

Mode 1 - ต่อชาร์จจากปลั๊กไฟโดยตรง แบบไม่มีอุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟหรือระบบป้องกันไฟรั่ว ซึ่งส่วนใหญ่โหมดนี้จะใช้ตามโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อทดสอบประสิทธิภาพรถ ไม่นิยมใช้ในบ้านของ End-User

Mode 2 - สายชาร์จต่อเข้าไฟบ้านโดยตรงแบบมี Adapter ที่ชาร์จแบบนี้ตัวอะแดปเตอร์แปลงไฟจากกระแสไฟ AC เปลี่ยนเป็น DC เมื่อต่อเข้ากับ On board charger ซึ่งโหมดชาร์จนี้จะเรียกว่า Emergency Cable สายชาร์จนี้ส่วนใหญ่มีมาให้พร้อมกับรถ แต่หลักการใช้งานเน้นพกไว้เพื่อใช้ในยามจำเป็น ไม่ควรใช้เป็นที่ชาร์จหลัก เพราะปลั๊กพ่วงนี้มีสายไฟค่อนข้างเล็ก ใช้เวลาชาร์จค่อนข้างนาน เพราะหากเสียบไว้นานๆ อาจเกินความร้อนและอันตรายได้ เหมาะสำหรับพกไปต่างจังหวัดเมื่อหาสถานีชาร์จใหญ่ไม่ได้ หรือไฟฟ้าไม่พอกลางทาง เต้ารับที่นำปลั๊กไปเสียบควรมีสายดินและเบรกเกอร์ หากไฟไม่พอจะได้ไม่เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และไม่ควรต่อพ่วงร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น 

Mode 3 - ตู้ชาร์จ EV Charger แบบ Wallbox ซึ่งที่ชาร์จโหมดนี้จะเป็นเครื่องชาร์จแบบ AC Fast Charging ตู้ชาร์จที่สามารถติดตามบ้านและใช้เป็นแท่นชาร์จหลักในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ต่างประเทศและบ้านเราจะแนะนำให้ใช้เครื่องชาร์จแบบนี้ มีจำหน่ายแยกหลายแบรนด์ทั้งยี่ห้อของไทยและต่างประเทศ เลือกกำลังไฟได้ตั้งแต่ 3.6 / 7.4 / 11 / 22kW ขึ้นอยู่กับรุ่นและราคา วิธีการเลือกเราต้องไปดูว่ารถเราดึงกำลังไฟได้ที่เท่าไหร่ โดยดูขนาดของOn-Board Charger ของรถคุณ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเลือก Wallbox จ่ายกำลังไฟ 7.4kW แต่รถคุณรับไฟได้ที่ 11kW ตอนชาร์จรถจะรับไฟจากเครื่องชาร์จได้เพียง 7.4kW เพราะฉะนั้นเพื่อให้ตรงและเต็มประสิทธิภาพการชาร์จและประหยัดเวลาในการชาร์จ ควรเลือกใช้ Wallbox ที่จ่ายไฟได้ที่ 11 kW ถึงจะคุ้มค่ากับรถที่สุด

Mode 4 - DC Fast Charger ชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง พูดง่ายๆ ก็คือสถานีชาร์จของการไฟฟ้า หรือ ตามปั๊มน้ำมัน ซึ่งการต่อกับสถานีชาร์จข้อดีคือ ชาร์จไว ชาร์จแรงปล่องกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องผ่าน On-Board charger ของรถ แค่ไม่ถึง 30 นาทีก็สามารถชาร์จอัดกระแสไฟได้ถึง 80% ของแบตเตอรี่ แต่ทางวิศวกรไม่แนะนำให้ชาร์จด้วยวิธีนี้บ่อยนักเพราะมีผลทำให้เกิดความร้อนสูงส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพไว เน้นใช้เดินทางไกลต่อระยะวิ่งของรถ

เครื่องชาร์จที่แนะนำเลยสำหรับคนที่กำลังถอยรถไฟฟ้าคือ เครื่องชาร์จ Mode3 เป็นกระแสไฟแบบ AC และเป็นรุ่นหัวชาร์จ Type 2 ติดตั้งตามบ้าน ในท้องตลาดมีหลายรุ่นและหลายยี่ห้อจากทั้งยุโรป อเมริกา จีน และไทย ซึ่งเครื่องที่ขายต่างได้รับมาตรฐานสากลแล้ว ค่ายรถดังหลายๆ ยี่ห้อก็วางใจใช้เครื่องเหล่านี้ ราคาแตกต่างกันตามขนาดจ่ายไฟ รุ่นที่ต่อกับไฟบ้าน 3 เฟส ก็จะมีราคาที่แรงกว่า 

ส่วนใครมีงบ แนะนำให้ลองหารุ่นที่มีฟังก์ชั่นพิเศษพวกกลุ่ม Smart EV Charger เพราะนอกจากทันสมัย สวยงาม สิ่งที่เป็นประโยชน์คือเราสามารถต่อ bluetooth ติดตั้ง Application เข้าไว้ที่มือถือของเรา สามารถตั้งโปรไฟล์รถได้หลายคันขึ้นอยู่กับความสามารถของ App รุ่นที่เป็น Smart EV Charger ข้อดีคือ คุณสามารถดูข้อมูลการชาร์จได้ตลอดเวลา และที่พิเศษกว่านั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็สามารถสั่งงานให้หัวชาร์จเริ่มชาร์จไฟได้ทุกเมื่อที่คุณต้องการ เพียงจอดรถ ต่อปลั๊กชาร์จเข้ากับรถทิ้งไว้ จะมีสถานะขึ้นแสดงบนหน้าจอ เพียงเท่านี้ เครื่องชาร์จก็พร้อมสแตนบายด์ให้คุณสั่งงานได้ทุกเมื่อ บางรุ่นสามารถตั้งเวลาชาร์จได้ น่าจะถูกใจสำหรับบ้านใครระบบไฟฟ้าเป็นแบบ TOU Metre (Time of Use Tariff) หรืออัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาของการใช้ที่จะมีเรทค่าไฟที่ถูกกว่าเกือบครึ่ง เช่นเวลา Off Peak ระหว่างเวลา 22.00-09.00 น.ของวันจันทร์-ศุกร์ และช่วงเวลาระหว่าง 00.00-24.00 ของวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งคุณสามารถตั้งให้หัวชาร์จทำงานในช่วงที่ค่าไฟถูกก็จะช่วยประหยัดไปได้อีกเยอะ และในแอพพลิเคชั่นยังสามารถบันทึกประวัติการชาร์จได้ด้วย ก็เหมาะสำหรับใครที่ต้องการตรวจเช็คเพื่อทำบัญชีและคำนวณค่าไฟในแต่ละเดือนว่ารถเราใช้ไฟต่อเดือนเท่าไหร่ แถมยังสามารถตั้ง % พลังงานในการชาร์จได้ ว่าจะชาร์ตเต็มหรือแค่กี่ % ตามที่คุณต้องการ แต่อย่างที่บอกความสามารถของฟังก์ชั่นมาพร้อมราคาที่สูงขึ้น แต่ถ้างบในกระเป๋าคุณพร้อมก็เหมาะแก่การลงทุน

-

สัมมากร

บ้านที่หลับสบาย ไร้กังวล

Have a good sleep

แอดไลน์สัมมากร เพื่อรับข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม

คลิก : https://bit.ly/3NB2Irs

 

#SAMMAKORN #บ้าน #สัมมากร #บ้านที่หลับสบาย #รถยนต์ไฟฟ้า #ติดตั้งEV #EVcharger #TOU 



 

สมัครรับข่าวสาร
อีเมล*